เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. กุณฑลเกสีวรรค] 1. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
แม้สตรีผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ในฐานะนั้น ๆ
ก็เป็นคนฉลาดได้
[32] บุรุษเท่านั้นจะเป็นคนฉลาดในฐานะทั้งปวง ก็หาไม่
แม้สตรีผู้คิดเนื้อความได้ฉับไว ก็เป็นคนฉลาดได้’
[33] ครั้งนั้น หม่อมฉันคิดได้หลาย ๆ เรื่องอย่างรวดเร็วและฉับไว
ดุจบ่อเกิดแห่งปัญญาที่เต็มด้วยความคิดจึงได้ฆ่าศัตรูที่ร้ายกาจ
[34] ผู้ใดไม่รู้จักเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน
ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมถูกเขาฆ่าตาย
เหมือนโจรซึ่งถูกฆ่าที่ปากเหว
[35] ผู้ใดรู้จักเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน
ผู้นั้นก็พ้นจากพวกศัตรูเบียดเบียน
เหมือนที่หม่อมฉันพ้นจากโจรซึ่งเป็นศัตรูในครั้งนั้น
[36] เมื่อหม่อมฉันผลักศัตรูตกเหวไปแล้ว
ได้เข้าไปบวชยังสำนักของปริพาชกที่ครองผ้าขาว
[37] ครั้งนั้น พวกปริพาชกใช้แหนบถอนผมของหม่อมฉัน
จนหมดแล้วให้บวช สอนลัทธิให้เนือง ๆ
[38] หม่อมฉันเรียนลัทธินั้นแล้ว นั่งคนเดียวคิดถึงลัทธิ
ซึ่งทำมนุษย์ให้เป็นเยี่ยงสุนัขนั้น
[39] ปริพาชกถือผมที่ถอนแล้วโยนไว้ใกล้หม่อมฉันแล้วก็หลีกไป
หม่อมฉันเห็นแล้วได้นิมิตเหมือนหมู่หนอนตั้งอยู่
[40] แต่นั้น หม่อมฉันมีความสลดใจลุกขึ้น
ได้สอบถามพวกปริพาชกที่มีลัทธิเดียวกัน
พวกนั้นบอกว่า
‘ภิกษุศากยบุตรทั้งหลายย่อมรู้เรื่องนั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :460 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. กุณฑลเกสีวรรค] 1. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
[41] หม่อมฉันเข้าไปหาพุทธสาวกแล้วถามเรื่องนั้น
พุทธสาวกเหล่านั้นพาหม่อมฉัน
ไปยังสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[42] พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ
ทรงแสดงธรรมแก่หม่อมฉันว่า ‘ขันธ์ อายตนะ
และธาตุทั้งหลาย ไม่งาม ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา’
[43] หม่อมฉันได้ฟังพระธรรมของพระองค์แล้ว
ชำระธรรมจักษุให้หมดจดโดยวิเศษ
รู้แจ้งพระสัทธรรมแล้วได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
[44] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าอันหม่อมฉันทูลขอแล้วได้ตรัสว่า
‘เธอจงเป็นภิกษุณีมาเถิด นางผู้เจริญ’
หม่อมฉันอุปสมบทแล้ว ได้เห็นน้ำ
[45] รู้จักสังขารที่มีความเกิดและความดับไปด้วยน้ำล้างเท้า
คิดว่า ‘สังขารแม้ทั้งปวง ก็เป็นอย่างนั้น’
[46] จากนั้นจิตของหม่อมฉันหลุดพ้นแล้ว
เพราะไม่ถือมั่นโดยประการทั้งปวง
ในครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะว่า
‘เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ผู้ขิปปาภิญญา’
[47] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ
เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
[48] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
หม่อมฉันทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว
เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :461 }